แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ สมุนไพรเฟฮักฟาร์ม แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ สมุนไพรเฟฮักฟาร์ม แสดงบทความทั้งหมด

15 พฤศจิกายน 2563

Herb Fehug Farm : "พาไปหาหญ้าเมืองวายใช้ห้ามเลือด! #ผักเซียงดากินแล้วดี!?"



พาไปหาหญ้าเมืองวาย@เฟฮักฟาร์ม ch.

"หญ้าเมืองวาย หรือสาบเสือ" เป็นชื่อเรียกทางภาคเหนือ เป็นสมุนไพรพื้นบ้าน
ที่ขึ้นตามสวนไร่นา เห็นกันตั้งแต่เด็กๆ คิดถึงเมื่อตอนเด็กๆ ชอบโดนมีดบาดมือ และมักจะ
หกล้มบ่อยๆ พ่ออุ้ย แม่อุ้ย ก็มักจะใช้ใบของหญ้าเมืองวายมาขยี้ๆ แล้วบีบเอาน้ำสีเขียวๆ
หยดที่แผลเพื่อห้ามเลือดให้หยุดไหล แล้วก็จะใช้เยื่อใบพอกปิดแผลไว้ใช้รักษาแผลสด

ความรู้สึกที่บาดแผลถูกน้ำที่บีบจากหญ้าเมืองวายก็จะแสบนิดๆ และเมื่อนำมาพอกทับแผล
ก็รู้สึกเย็นที่แผลนั้น เราจึงชอบใช้หญ้าเมืองวายในการรักษาแผลสดอยู่เป็นประจำ ที่ได้ผลดี
และมีอยู่วันหนึ่ง เราก็ใช้"ใบหญ้าเมืองวาย" ในการรักษา"แมวแรคคูน" พ่อพันธ์ุวิเชียรมาศที่
ถูกกระจกบาดมือเป็นแผลใหญ่เลยทีเดียว มีเลือดหยดสีแดงเป็นรอยมือมาเป็นทาง น่ากลัว !

เรารีบ! ไปหา"ใบหญ้าเมืองวาย" ประมาณสักสิบใบ แล้วก็นำใบไปล้างน้ำสะอาดก่อน ก็นำมาโขลกให้ละเอียด ก็นำมาใส่ในมือตัวเองแล้วก็ไปจับมือของ"แมวแรคคูน" ที่มีบาดแผลสดนั้น
พอกปิดแผลบีบมือน้องแมวไว้ให้แน่นๆสักพักหนึ่ง! เพื่อให้หญ้าเมืองวายไปห้ามเลือดรักษาแผลให้หายไวๆ ก็โชคดีที่เป็นแมวเชื่องฉลาดแสนรู้! ชอบให้ช่วยรักษายามเจ็บป่วยอยู่เสมอๆ 


ชมคลิปวิดีโอ 

"พาไปหาหญ้าเมืองวายใช้ห้ามเลือด! # ต้นผักเซียงดาในไร่"






ชื่อสามัญ   Bitter bush, Siam weed 

ชื่อวิทยาศาสตร์  Chromolaena odoratum (L.) R.M. King & H. Rob.

วงศ์   COMPOSITAE

ภาคเหนือ หญ้าเมืองวาย หญ้าเมืองฮ้าง  ภาคกลาง สาบเสือ หญ้าดอกขาว หญ้าดงร้าง หมาหลง  ภาคอีสาน มุ้งกระต่าย หญ้าเหม็น หญ้าเลาฮ้าง ภาคใต้ ช้าผักคราด รำเคย ยี่สุ่นเถื่อน

หญ้าเมืองวายเป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นและกิ่งก้านสีเขียว มีกลิ่นเฉพาะตัว ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบรูปหอกฐานกว้าง ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบหยักมน ดอกเป็นช่อออกตามซอกก้านใบและปลายยอด  สีขาว ผลแห้งขนาดเล็กรูปกระสวยแบนเป็น 5 เหลี่ยม สีน้ำตาลดำ มีหนามแข็งเป็นสัน

สภาพนิเวศ :  เป็นวัชพืชขึ้นในที่โล่งแจ้งและที่รกร้างว่างเปล่า

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด

สถานภาพในชุมชนปางมะโอ
การใช้ประโยชน์ :  มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร ใช้ใบสดขยี้ใส่แผล ช่วยห้ามเลือด ส่วนรากต้มน้ำดื่มแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
แหล่งที่พบ : พบทั่วไปตามพื้นที่เกษตร ริมถนนรอบหมู่บ้าน ในสวนเมี่ยง และในป่าธรรมชาติ

เกร็ดน่ารู้ : หญ้าเมืองวาย หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “สาบเสือ” เป็นยาสมุนไพร ใบสดขยี้ใช้ห้ามเลือด  ส่วนกลิ่นหอมแรงเกิดจากน้ำมันหอมระเหยกลุ่ม Eupatol และCoumarin ซึ่งสามารถนำมาเป็นยาไล่แมลงได้


 "ผักเซียงดา" @เฟฮักฟาร์ม ch.


ต้นผักเซียงดา สมุนไพร@Fe Farm

สมุนไพรผักพื้นบ้านที่มีคุณค่า มีสรรพคุณต่อต้านอนุมูลอิสระ ,รักษาไข้หวัด ,รักษาภูมิแพ้ฯลฯ
จะเห็นว่ามีการนำใบแก่ผักเซียงดา ไปตามแห้งแล้วผ่านความร้อนเพื่อฆ่าเชื้อ เพื่อมาทำเป็นแคปซูล  แต่เราชอบไปเก็บยอดอ้วนๆผักเซียงดานำมาเป็นเมนูพื้นบ้าน"ผัดผักเซียงดาใส่ไข่"
ใส่มะเขือเทศด้วยอร่อยเข้ากันมาก และที่ทำง่ายสุดๆ ก็เป็นเมนู"มาม่าใส่ไข่และผักเซียงดา"



เราทราบกันดีว่า ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีทรัพยากรที่เป็นสมบัติของผืนถิ่น ในกลุ่มประเภทอาหาร นอกจากข้าวแล้ว เห็นจะมีก็แต่พืชผักที่เป็นของดี หาได้ในทุกพื้นที่ และผักต่างๆ ยังจำแนกได้เป็นหลายร้อยชนิด มีทั้งล้มลุก ยืนต้น ใต้ดิน บนดิน กินราก ต้น หัว ดอก ใบ ผล และเถาเลื้อย เช่นผักชนิดนี้ ที่พบเห็นได้มากในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยเรา มีหลายชื่อเรียก แต่ที่รู้จักกันแพร่หลาย รู้จักกันมานาน และนิยมใช้เป็นผักประกอบอาหาร เราเรียกเขาว่า “ผักเชียงดา” มีผู้รู้มากมายหลายท่านได้เผยแพร่สรรพคุณกันมามากแล้ว ที่ขอเอามาเล่าถึงตอนนี้ เพราะเกรงว่าจะถูกนำไปเป็นลิขสิทธิ์ของคนบ้านอื่นเมืองอื่นเขาได้

“ผักเชียงดา” มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น ผักเจียงดา ผักเซ่งดา ผักม้วนไก่ ผักเซ็ง ผักฮ้วนไก่ ผักอีฮ้วน ผักจันปา หรือ เชียงดา เจียงดา จินดา ก็เรียกกันแต่ละพื้นถิ่น มีชนิดหนึ่งเรียก “ผักวุ้น” หรือ “ผักว้น” ต่างกันที่ลวดลายบนใบ คุณสมบัติอื่นๆ เหมือนกัน ซึ่งผักเชียงดานี้ เป็นไม้เถาเลื้อยยาว พาดพันขึ้นต้นไม้ กิ่งไม้ หรือค้าง เถามีสีเขียว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-5 เซนติเมตร ยาว 5-10 เมตร

ทุกส่วนของต้นเมื่อทำให้เกิดแผล จะพบยางสีขาวเหมือนน้ำนม ใบสีเขียวเป็นใบเดี่ยวกลมรี ฐานใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ สีผิวหน้าใบเขียวกว่าหลังใบ ออกใบเรียงเป็นคู่ตรงข้ามกัน ลักษณะดอกออกเป็นช่อสีขาวอมเขียวอ่อน ช่อดอกแน่น ดอกกลมขนาดเล็กเพียงแค่ 5-6 มิลลิเมตร ผลเป็นฝักคู่ ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำเถาหรือกิ่ง ขึ้นได้ดีในสภาพดินร่วนซุย ความชื้นพอประมาณ แสงแดดจัดปานกลาง ถึงร่มรำไร เจริญเติบโตดี เร็ว ทนทาน อายุยืนหลายปี ถ้าปลูกแบบการค้า จัดเป็นแปลง จัดต้นทรงพุ่มเตี้ยเพื่อง่ายแก่การเด็ดยอด ปลูกเป็นแถว ระยะปลูกระหว่างต้นและแถว 4×4 เมตร ได้ 100 ต้น ต่อไร่ หรือจะปลูกระยะต้นมากกว่านี้ก็ได้ และต้องทำค้างให้เถาเลื้อยได้พอเหมาะ เราขยันเด็ดยอด ผักเชียงดาก็ขยันออกยอดแตกกิ่งได้ตลอดปี

ผักเชียงดา ชื่อวิทยาศาสตร์ Gymnema Inodorum

เป็นพืชในวงศ์ ASCLEPIADACEAE

นอกจากพบมากทางภาคเหนือของไทยแล้ว ยังพบในประเทศอินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย เวียดนาม พม่า จีน ญี่ปุ่น จนถึงแอฟริกา หลายปีก่อนเป็นข่าวฮือฮา แต่ไม่ฮา ว่าญี่ปุ่น รับซื้อใบผักเชียงดา นำไปผลิตเป็นยาชงสมุนไพร รูปแคปซูล เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ลดปริมาณน้ำตาลในเส้นเลือด รักษาโรคเบาหวาน ช่วยยับยั้งการดูดซึมกลูโคส เขาคงได้ข้อมูลจากอินเดีย ที่พบผักชนิดนี้ แต่ต้องการพัฒนาพันธุ์ของไทยมากกว่า เช่นเดียวกับอเมริกา ทำผักเชียงดาบรรจุแคปซูล เป็นยาเสริมสุขภาพ และระบุสรรพคุณว่า มีผงผักเชียงดา ถึง 500 มิลลิกรัม

ส่วนทางไทยเราก็พูดได้ว่า ตื่นตัวตามกระแสอาหารสุขภาพกันมาก หลายจังหวัดทางภาคเหนือ ทำเป็นผลิตภัณฑ์ชาชงพร้อมดื่ม ในบริบทสินค้าชุมชนแบบไทย และเป็นแค่ข่าวเล็กๆ ให้คนไทยเรารู้จัก คงแค่นั้น หรือคงรอให้ญี่ปุ่น อเมริกา ทำให้โด่งดังติดตลาดก่อน เราค่อยแห่ตามกระแส มองแถวเวียดนาม พม่า มาเลย์ ไว้ให้ดีด้วย

คุณค่าทางอาหารของผักเชียงดามีมากมาย และมีคุณสมบัติเฉพาะตัวของผักพื้นบ้าน เช่นเดียวกับผักชนิดอื่นๆ ในยอดและใบอ่อน 100 กรัม ให้พลังงานกว่า 60 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต 6.2 กรัม โปรตีน 5.4 กรัม ไขมัน 1.5 กรัม เส้นใยอาหาร 2.5 กรัม ฟอสฟอรัส 98 มิลลิกรัม แคลเซียม 78 มิลลิกรัม สังกะสี 2.3 มิลลิกรัม เหล็ก 2.3 มิลลิกรัม วิตามินเอ 5905 iu. วิตามินบีหนึ่ง 981 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.32 มิลลิกรัม วิตามินซี 153 มิลลิกรัม ไนอะซีน 1 มิลลิกรัม

ประโยชน์ทางยา นับได้ว่า ผักเชียงดา เป็นสมุนไพรที่มากคุณค่าชนิดหนึ่ง หมอพื้นบ้าน คนพื้นถิ่น ได้ตรวจสอบผลในการบำรุงร่างกาย รักษาโรคภัยต่างๆ ได้ ตำรายาหมอพื้นบ้านแนะนำให้ใช้ตำพอกกระหม่อม รักษาไข้หวัด ไอ ขับเสมหะ บรรเทาภูมิแพ้ หืดหอบ หลอดลมอักเสบ ปวดแสบปวดร้อน อักเสบ บิด ขับปัสสาวะ ช่วยระบบขับถ่าย ขับระดู แก้กามโรค ตำพอกฝี แก้งูสวัด เริม ถอนพิษ ดับพิษร้อน พิษกาฬ ไข้เซื่องซึม โรคชักกระตุก หมอไทยใช้เป็นส่วนผสมเป็นยาครอบจักรวาล หรือยาตำราหลวง หรือยาแก้หลวง

ทางการแพทย์แผนปัจจุบันก็ทราบดีว่า ผักเชียงดา ไม่ว่าจะเป็นส่วนใบ ยอด เถา ต้น หัว ราก ทุกส่วนเป็นยา ต้านอนุมูลอิสระ สาเหตุมะเร็งร้าย มะเร็งกระเพาะ มะเร็งตับ เส้นเลือดหัวใจอุดตัน โรคต้อกระจก ป้องกันเม็ดเลือดแดงแตก รักษาข้ออักเสบ รูมาตอยด์ โรคเกาต์ เบาหวาน ปรับระดับอินซูลิน ช่วยลดน้ำหนัก บำรุงสายตาแก้ตาฝ้าฟางเคืองตา หูดับ ฟื้นฟูตับอ่อน และคงเป็นบทพิสูจน์ทางการแพทย์แผนปัจจุบันแล้วว่า เป็นพืชที่มีตัวยาสำคัญมากมาย ญี่ปุ่น อเมริกา ถึงหาซื้อไปทำผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และยารักษาโรค

ในส่วนที่เป็นผัก ให้ชาวบ้านนำมาประกอบอาหาร คือส่วนของยอดอ่อน ใบอ่อน มักเจริญเติบโตในฤดูฝน แต่ยอดอร่อยต้องยอดใบหน้าแล้ง ยอดหน้าฝนจะรสเฝื่อน ใช้บริโภคเป็นผักลวก หรือผักสด แกล้มส้มตำ ยำมะม่วง ลาบ หลู้ นำไปแกงผักใส่ปลาแห้ง แกงแค แกงผักรวมมิตร ด้วยผักเชียงดา ผักดีด ชะอม ผักเสี้ยว และอีกสารพัดเมนู แต่อยากแนะนำ กินผักเชียงดาแบบสด มีคุณค่าทางอาหารมากกว่าทำให้สุก

และขอเตือนนิดหนึ่ง กินผักเชียงดามากๆ ระวังจะมีผลทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ สรุปได้ว่าคุณสมบัติที่โดดเด่น ในสรรพคุณของผักเชียงดา คือรักษาบำบัดโรคเบาหวาน

ขอบคุณแหล่งข้อมูล ผู้เขียนอดุลย์ศักดิ์ ไชยราชเผยแพร่


บทความที่ได้รับความนิยม